"สายชล​ เพยาว์น้อย" ผู้สร้างตำนาน "บ้านใร่กาแฟ" จากรายได้ 100 ล้านพลิกติดลบ แต่ใจสู้ไม่ถอย !

LIEKR:

สุดยอดค่ะ สู้ชีวิตมาก

หมายเหตุ : สามารถรับชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่างบทความค่ะ 

    หากย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาชื่อชั้นของ “บ้านใร่กาแฟ” น่าจะยังเป็นที่จดจำของใครหลายคนได้เป็นอย่างดี เพราะร้านกาแฟแบรนด์นี้ก่อกำเนิดโดยผู้ชายธรรมดาๆ  ที่ชื่อ “สายชล เพยาว์น้อย” ผู้ที่พกไอเดียมาแบบดิบๆ  ตามสไตล์หนุ่มบ้านนอก ที่เริ่มสร้างแบรนด์ตั้งแต่ชื่อร้านที่จงใจเขียนผิดเพื่อให้สะดุดตา ในช่วงนั้น บ้านใร่กาแฟถือว่าสามารถแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัว และเคยเฟื่องฟูโดยมีจำนวนมากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศมาแล้ว ก่อนที่จะค่อยๆ  หายไปจากตลาด จนตอนนี้แทบจะหาสาขาแบรนด์นี้ได้ยากเต็มที

    ปี พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2540  สายชล เพยาว์น้อย เจ้าของธุรกิจบ้านใร่กาแฟเป็นคนที่ชอบเดินทางศึกษาวัฒนธรรมไปตามเส้นเดินทางสายต่าง ๆ ทั้งภาค ภาคอีสาน ภาคเหนือภาคใต้ ตลอดการเดินทางมักจะแวะดื่มกาแฟกระป๋องตามสถานีบริการน้ำมัน ครั้งเดินทางไปยังสายอีสานได้พบกาแฟแบบชาวบ้านตั้งซุ้ม โต๊ะ ในสถานีบริการน้ำมัน แบบคั่วชง มีจุดเด่นในด้านรสชาติ และ วิธีการในการนำเสนอ ลูกค้าจะเห็นกรรมวิธี และ ลีลาการชงกาแฟของชาวบ้านดูมีศิลปะเพิ่มคุณค่าให้กาแฟในแก้วนั้น ๆ ปรุงแบบแก้วต่อแก้ว ใช้กาแฟคั่วใหม่จากภาชนะที่ฝาปิดสนิทบดสด ๆ ชงสด ๆ จึงนำแนวทางของชาวบ้านมานำเสนอในรูปแบบของบ้านใร่กาแฟ คือ เพิ่มอาคารกาแฟ จัดการความสะอาด ความสะดวกสบาย เป็นระบบธุรกิจ เพิ่มแนวคิดทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารทรงไทยโมเดิร์น จัดการภูมิทัศน์โดยรอบ

    บ้านใร่กาแฟสร้างสาขาแรกที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.รังสิต – องค์รักษ์คลอง 7 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2540 โดยมีชื่อว่าบ้านแรก สาขาบ้าน 9 มีสัญลักษณ์เป็นใบไม้สีเขียว หลังเปิดได้ 13 วัน เช้าวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2541 เกิดอุบัติเหตุรถเข้าพุ่งชนร้าน ต้องปิดร้านโดยฉับพลัน จากนั้นจึงสร้างสาขา 9/2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2541 ในสถานีบริการน้ำมัน JET และออกแบบใหม่เป็นอาคารทรงสามเหลี่ยม ซึ่งรูปแบบตัดมาจากหน้าบานบ้านทรงไทย

    จากนั้นได้รับโอกาสจากบริษัท CONOCO ประเทศไทย JET อนุมัติให้ก่อสร้างในแบบบ้าน 8 (บ้านกรุง) บนเส้นทางถนนพหลโยธินเป็นสาขาแรกในสถานีบริการฯของ JET เปิดทำการขายวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นสาขาบ้านสามเหลี่ยมแรก ปี พ.ศ. 2542 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านใร่กาแฟซึ่งได้แนวความคิดจาก สังคมและภูมิปัญญาของชาวบ้านของไทย ในปี พ.ศ. 2549 มีสาขาทั้งหมด 110 สาขา

    สายชล เล่าให้ฟังว่า ปตท. คลอง 7 คือสาขาแรกของบ้านใร่กาแฟเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เงินที่ใช้ในการลงทุนมาจากการขายทาวน์เฮ้าส์ของตัวเอง 3 แสนบาทเพื่อนำมาก่อร่างสร้างร้านกาแฟสาขาแรก โดยใช้ชื่อว่า “ไร่กาแฟสด” เมื่อธุรกิจดำเนินมาได้ 4 ปี ร้าน Amazon ของ ปตท.ก็เกิดตามมา

    โดยในปี 2541 บ้านใร่กาแฟได้มีปัญหากับปั๊มปตท. จึงตัดสินใจย้ายมาเปิดในปั๊ม JET แทน โดยเมื่อก่อนปั๊ม JET ขึ้นชื่อในเรื่องของความสะอาด และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้รถที่จะแวะเข้ามาใช้บริการอยู่เป็นประจำ โดยในระยะเวลา 8 ปีบ้านใร่กาแฟได้เข้าสู่ยุครุ่งเรือง สามารถขยายสาขากว่า 100 สาขาทั่วประเทศ และมียอดขายมากถึง 140 ล้านบาทต่อปี เมื่อทุกอย่างกำลังไปได้สวยสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในปี 2550 CONOCO ประกาศขายกิจการปั๊ม JET ทั้งหมด 147 แห่งในไทยให้กับปตท. ซึ่งเจ้าถิ่นอย่าง Amazon ที่อยู่ในปั๊มปตท. มาโดยตลอดก็ได้เข้ามายึดพื้นที่จนกาแฟบ้านใร่ต้องระเห็ดออกจากปั้มในที่สุด

    สายชล  เพยาว์น้อย วันนี้ในวัย 53 ปี เปิดใจกับทีมงาน BIZpromptINFO ว่า  หลังจากหันหลังให้กับกรุงเทพมหานคร เขาตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสระบุรีซึ่งมีที่ดินที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ด้วยการแบกความฝันที่ยังมีชีวิตมาก่อร่างสร้างอาณาจักรบ้านใร่กาแฟในเวอร์ชั่นของเขาบนพื้นที่ 8 ไร่ ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์กำเนิดตำนานบ้านใร่กาแฟซึ่งเป็นสถานที่แสดงความเป็นมาของการเกิดตำนานบ้านใร่กาแฟ รวบรมอุปกรณ์สิ่งของ เครื่องใช้ที่กี่ยวข้องกับการกำเนิดตราบ้านใร่กาแฟในยุคแรกเป็นต้นมาตั้งแต่ปี 2540   เช่น ของประดับตกแต่งภายในร้านรุ่นแรก เสื้อผ้า เครื่องใช้ภายในร้าน พร้อมเปิดตลาดโรงคั่วที่ขนเอาความเป็นบ้านใร่กาแฟทั้งหมดทุกชิ้นมาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้คนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู็ โดยเปิดให้เข้าชมฟรี

    21 ปี 7 เดือน หรือกว่าสองทศวรรษ สายชล บอกว่า บ้านใร่กาแฟผ่านมา 3 ยุค เริ่มจากยุคก่อสร้างแบรนด์  ในสมัยนั้นข้อมูลตลาดกาแฟไม่มีเลย แล้วก็มาถึงยุคสร้างแบรนด์ มีการสร้างคน สร้างสัญลักษณ์ สร้างความทรงจำ และยุคสุดท้ายคือยุคการใช้แบรนด์ ซึ่งตลาดโรงคั่วอยู่ในยุคนี้โดยเปิดตั้งแต่วันที่ วันที่ 2 ธันวาคม 2560 รวมระยะเวลาถึงขณะนี้ได้ปีครึ่ง สายชล เรียกที่นี่ว่า พื้นที่อันเป็นหัวใจขององค์การบ้านใร่กาแฟ เพราะทุกอย่างรวมอยู่ที่นี่ ซึ่งในส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นเปิดมา 20 ปีแล้ว

    ปัจจุบัน บ้านใร่กาแฟ มีทั้งหมด  14 สาขาทั่วประเทศ สายชลยอมรับว่า เขาแบกภาระหนี้สินสูงถึง 30 ล้านบาท แต่ไม่ขอยอมแพ้เพราะเขาเชื่อว่าแบรนด์บ้านใร่กาแฟยังมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบในรสชาติของสินค้าและมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ แต่ครั้นจะขยายสาขาเพิ่มก็ติดปัญหาด้านการเงิน ซึ่งอันดับแรกเขาต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้จบก่อน

    หนทางเดียวที่จะหลุดพ้นหนี้ก้อนโต ขณะเดียวกันก็สามารถสานฝันที่อยู่ในตัวของเขาได้ นั่นคือ การหาพันธมิตรหรือผู้ร่วมลงทุน  ซึ่งที่ผ่านมาสายชลเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่จากนี้ไปต้องการพาร์ทเนอร์ ซึ่งมีเข้ามาคุยเรื่อยๆ  แต่ยังไม่สรุป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ยังไม่ลงตัวแต่คาดว่าจะสรุปได้เร็วๆ  นี้

    การลงทุนแบรนด์บ้านใร่กาแฟ สายชล บอกว่ามีทุกรูปแบบขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ที่เข้ามา อาทิ เงินมาเอาหุ้นไป หรือจะซื้อทั้งกิจการสายชลตั้งราคาไว้ที่ 100 ล้านบาทจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างของบ้านใร่กาแฟ  แต่ขอพิพิธภัณฑ์ กับคำว่าบ้านใร่ ตลาดโรงคั่ว ซึ่งเขายังต้องใช้อยู่ เพื่อรักษาหลายชีวิตทั้งตัวเองและลูกน้องที่อยู่กับเขามายาวนาน

    เสน่ห์ของบ้านใร่กาแฟในสายตาของสายชล มองว่า  มาจากการผูกมัดทางความคิด ที่สร้างมาตั้งแต่เกิด และความคิดนั้นเกิดจากของแท้ ไม่ได้เกิดจากการตลาดอย่างธุรกิจอื่น แต่มันเกิดมาจากวัฒนธรรมที่สะสมมา เกิดเป็นช่องโหว่ที่รอการระเบิด ไม่ได้เกิดตามยุค แต่เกิดจากเนื้อหาสาระ ไม่มีคำว่าสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี มันเป็นช่องว่างระหว่างเถ้าแก่กับสตาร์ทอัพ ไม่ได้เกิดตามกระแสเพราะสมัยนั้นสตาร์บัคส์เข้ามาทีหลัง

    ชีวิตของผู้ชายคนนี้ ผ่านมาหลายสิ่งหลายอย่างจนกล้าแกร่ง หลังจากที่หันหลังให้กับเมืองกรุงด้วยอาการบอบช้ำอย่างหนัก สายชลฟูมฟักและหล่อเลี้ยงจิตใจตัวเอง โดยใช้สถานที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่ชุบชูจิตใจไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าจนรอดมาได้ วันนี้ แม้ว่าเขาจะยังยืนไม่ค่อยแข็งแรงมากนักก็ถือว่าผ่านพ้นช่วงชีวิตที่ต้องใช้คำว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดไฟไหม้ที่โรงคั่วกระหน่ำชีวิตอีกระลอกซึ่งกว่าจะผ่านมาได้ สายชลบอกว่า หนักหนาเอาการ

    เมื่อจนตรอก สายชลตัดสินใจยอมตัดอวัยวะเพื่อรักษาอีกหลายชีวิตที่เขาต้องรับผิดชอบ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือ หาผู้ร่วมทุนเพื่อนำพาแบรนด์บ้านใร่กาแฟให้ก้าวเดินต่อไป โดยที่เขาคอยยืนดูเบื้องหลัง หรือหากไม่มีคนสนใจเขาก็จำต้องทิ้งไพ่ใบสุดท้ายที่เหลืออยู่นั่นคือ การขายที่ดินซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา เพราะมิฉะนั้นหากทิ้งเวลาให้เนิ่นนานออกไป สายชลเชื่อว่าคนจะลืมแบรนด์บ้านใร่กาแฟไปเสียก่อน

    เมื่อถามถึงเป้าหมายในชีวิต สายชล บอกว่า ทำอย่างที่คิด ความสุขของคนคือการได้ทำอย่างที่คิด เราจะทำตามที่คิด และทำเพื่อผู้อื่น ตอนนี้ยังไม่เต็มที เพราะต้องใช้ทุนทรัพย์ ใช้ความมีชื่อเสียง ที่จะทำให้เราสื่อสารเรื่องการทำเพื่อผู้อื่นออกไปได้ง่ายขึ้น

    แนวทางนับจากนี้ ผู้ชายนักสู้คนนี้ตอบว่า เมื่อสร้างแบรนด์มาได้ระดับหนึ่ง ต่อไปคือการใช้แบรนด์ให้เป็นไปตามความตั้งใจ ตามพลังของเราที่มี ซึ่งตอนนี้พลังที่มีแปรเป็นการแก้ปัญหา เพราะมีเรื่องรุมเร้าทั้งเรื่องไฟไหม้ เศรษฐกิจ และแบรนด์ที่ถดถอยไปตามกาลเวลา

    จำนวน 100 ล้านแก้วเมื่อกว่า  10 ปีที่ผ่านมาที่เคยดื่มบ้านใร่กาแฟ สายชล เชื่อว่า คนกลุ่มนี้ ช่วงหนึ่งของชีวิตมีความทรงจำ คนอายุ 30-70 รู้จักแบรนด์บ้านใร่กาแฟ  แต่เมื่อเกิดปัญหาเรื่องสีเสื้อทางการเมืองเมื่อปี 2552 ทำให้ธุรกิจของเขาเริ่มถดถอย และค่อยๆ  หายไป แต่เชื่อว่า คนยังจำแบรนด์ได้ดี

    วันนี้ สายชล ยังคงยืนยันวิสัยทัศน์เดิมที่เขาเคยตั้งมั่นไว้ว่า ชั่วชีวิตนี้จะเอากาแฟไปขายที่ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่แท้จริงเพราะมีความท้าทายและเป็นจริงได้ แต่ถ้าบอกว่าจะเอากาแฟไปขายที่ดวงอาทิตย์ไม่ใช่วิสัยทัศน์ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่ตลอด 20 ปีที่พูดมา วันนี้เป็นไปได้แล้วจากการที่ปัจจุบันมีท่องเที่ยวไปดวงจันทร์แล้ว  คิดดูว่าคนมีเงินหมื่นล้าน ย่อมยอมจ่าย 100 ล้านไปเที่ยวดวงจันทร์แล้วทำไมจะจ่ายเงิน 10 ล้านเพื่อจิบกาแฟ บนดวงจันทร์ไม่ได้

    ภาพบ้านใร่ในความคิดของสายชล เขายังคงเชื่อมั่นว่า ถ้าได้รับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้ ภาพความเป็นบ้านใร่กาแฟจะกลับมา เพราะตอนนี้รอยต่อยังไม่ขาดตอน น่าจะเรียกความรู้สึกเดิมในเวอร์ชั่นใหม่ได้ เพราะแค่ 2 ทศวรรษ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ก็จะเป็นไปตามวัฏฏะของทุกอย่าง และคงหายไปในที่สุด

    สายชลทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เขาต้องการจากสังคม นอกจากเสียงปรบมือซึ่งวันนี้เขาได้รับแล้ว จากการอุทิศตัวเองกับการทำพิพิธภัณฑ์บ้านใร่กาแฟและตลาดโรงคั่วที่หนองแซง สระบุรีแล้ว เขาต้องการพร้อมกับยิ้มอย่างภาคภูมิใจในตัวเขา นั่นคือการได้เห็นบ้านใร่กาแฟที่เขารักและสร้างมากับมือกลับมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้งหนึ่ง

ชมคลิป

คลิปเปิดไม่ออก >>>>> กดตรงนี้ คลิ๊ก !!!! <<<<<

ข้อมูลและภาพจาก bizpromptinfo-

บทความที่คุณอาจสนใจ