อดีตแม่ค้าขายไข่ไก่ สู่ผู้ปั้น "นารายา" กระเป๋าผ้า 1,000 ล้าน ของฝากจากไทยสู่ระดับชาติ

LIEKR:

กลายเป็นของฝากระดับชาติ! ที่ใครมาเมืองไทยก็ต้องซื้อกลับไปฝาก

วาสนา ลาทูรัส อาจไม่คิดไม่ฝันว่าเงิน 8,000 บาทที่ได้จากการขายกระเป๋าผ้าวันแรกเมื่อปลายปี 2536 จะงอกเงยมาเป็นรายได้กว่า 1 พันล้านบาทต่อปีอย่างทุกวันนี้ และยังโตต่ออย่างไม่หยุดยั้ง

    “…เราว่าสวย ใช้งานง่ายหลายโอกาส ราคาไม่แพง…”

    “อารมณ์ประมาณว่าไปเกาหลี แล้วต้องเข้าร้านเครื่องสำอาง หรือเปล่าคะ เราว่ากระเป๋าน่ารักดีค่ะ ราคาไม่แพงด้วย…”

    “ญี่ปุ่นก็ชอบค่ะ เพราะที่โน่นราคาแบบว่าแพงกว่าบ้านเรามาก”

    “นักท่องเที่ยวไต้หวันก็ชื่นชมค่ะ เดี๋ยวนี้มีร้านค้ามาเปิดที่นี่ด้วย ”

    “ข้อดีของกระเป๋ายี่ห้อนี้คือ ราคาไม่แพง ใช้งาน ใช้ทน แบบสวยนักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซื้อกันเหมือนแจกฟรีเลยค่ะ”

    “เพื่อนเราซื้อไปฝากเพื่อนญี่ปุ่นนางกรี๊ดมาก เราเองก็ชอบนะ เรียบๆ ทน ราคารับได้…”

    เหล่านี้ คือ ตัวอย่างข้อความตอบกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์ดัง ซึ่งตั้งไว้เมื่อหลายปีก่อน เกี่ยวกับข้อสงสัย

    เหตุไฉน นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักๆ โดยเฉพาะคนจีน  ถึงชอบซื้อ NaRaYa กลับบ้านกันนักกันหนา!

    “We never negociate our quality - เราไม่เคยขอต่อรองเรื่องคุณภาพ สิ่งนี้คือคติประจำใจในการทำธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงทุกวันนี้”

    คุณวาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด วัยหกสิบกว่า เจ้าของสินค้า แบรนด์ Naraya-นารายา  ผลิตภัณฑ์งานฝีมือทำจากผ้ากว่าหนึ่งหมื่นแบบ ซึ่งว่ากันว่าใครมาเที่ยวเมืองไทย ต้องซื้อผลิตภัณฑ์ของเธอติดไม้ติดมือกลับไป ไม่อย่างนั้นอาจมาไม่ถึง  เริ่มต้นให้ฟัง

    ก่อนย้อนเรื่องราวส่วนตัวในอดีตให้ฟังด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี  บ้านของเธอเป็นครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ที่ไม่ให้ลูกสาวเรียนหนังสือเยอะ ตัวเองจบแค่ ป.สี่  ก็ต้องออกจากโรงเรียนไปขายของที่ตลาดประตูน้ำ    

    “เป็นแม่ค้าขายไข่ไก่ ไข่เค็ม ขายถุงพลาสติก อยู่ที่ประตูน้ำนานยี่สิบปี ใจจริงไม่อยากขายของ  ไม่ชอบบรรยากาศในตลาด อยากเรียนหนังสือมากกว่า แต่ตอนนั้นเลือกไม่ได้เลยพยายามหาเวลาไปเรียนช่วงกลางคืน จนได้เทียบวุฒิมัธยมฯ พอคุณแม่เสีย เลยตัดสินใจไม่เป็นแม่ค้าประตูน้ำอีกแล้ว”คุณวาสนา ย้อนความทรงจำ

    และเผยถึงอาชีพที่ใฝ่ฝัน อยากทำงานเป็นมัคคุเทศก์ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “ไกด์”มากที่สุด

    “ฝันอยากเป็นมัคคุเทศก์ อยากพูดภาษาอังกฤษเป็น อยากเดินคู่กับฝรั่ง เพราะ รู้สึกสมาร์ท แต่ไม่ได้อยากมีสามีเป็นฝรั่งนะคะ เรื่องนี้เป็นแค่ผลพลอยได้มากกว่า”เจ้าของเรื่องเล่าสนุก ก่อนหัวเราะร่วน

    กระทั่งอายุได้กว่าสามสิบหกปี คุณวาสนา จึงเดินเข้าไปสมัครทำงานประจำในตำแหน่งไกด์ กับบริษัทนำเที่ยวแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นวัยที่ไม่ใช่สาวน้อยจบใหม่ ผู้จัดการที่สัมภาษณ์งาน อดสงสัยถามไม่ได้ว่าไปทำอะไรมา ถึงสมัครงานตอนอายุขนาดนี้ เลยตอบไปช่วยงานที่บ้านอยู่

    และกับอาชีพที่เธอชื่นชอบนี่เอง เป็นที่มาของจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อนำพาให้มาพบรักกับ “คู่ชีวิต”ที่ฟันฝ่าความยากลำบากมาด้วยกัน และครองรักครองเรือนกันมาถึงทุกวันนี้

    “ตอนนั้น ได้รับมอบหมายจากบริษัท ให้ทำหน้าที่ให้ดูแลนักธุรกิจชาวกรีซ ชื่อ คุณวาสิลิโอส ลาทูรัส เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน เพื่อมองหาลู่ทางเข้ามาประกอบธุรกิจในเมืองไทย ทำไปทำมาความสัมพันธ์พัฒนาขึ้น จึงตัดสินใจแต่งงาน และผันมาทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสามี ทำธุรกิจร่วมกัน จัดตั้งบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์” คุณวาสนา เล่าความหลังครั้งนั้น

    หากธุรกิจตั้งต้น ของคนทั้งสองนี้ ไม่ได้สวยงามอย่างที่นึกฝันไว้ ถึงขั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่า เลยก็ว่าได้

    “เลือกทำธุรกิจส่งออกอะไหล่รถไปยุโรป เพราะสามีจบด้านวิศวฯมาจากอิตาลี เลยคิดว่าน่าจะมีความถนัด แต่ไม่เป็นอย่างที่คิด ทำไปซักระยะ จึงรู้ว่าหากส่งสินค้าซักอย่างไป เขาจะสั่งซื้อจากเราเพียงหนึ่งครั้ง จากนั้นก็ติดต่อผู้ผลิตโดยตรงเลย เราจึงมีรายได้แค่รอบเดียวห้าเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย แค่นั้นจบ เป็นอย่างนี้ทุกราย “คุณวาสนา เผยความหลังเสียงหม่น

    ก่อนบอกต่อ เมื่อไม่รู้จะหาลูกค้าที่ไหน เงินทุนเริ่มร่อยหรอ หนี้สินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลำบากมากถึงขั้นไม่มีจะกิน ทั้งบ้าน-ทั้งรถ โดนยึดมาหมดแล้ว

    “ยังจำความลำบากตอนนั้นได้ดี หมุนเงินจนหัวหมุน เอารถคันเก่าไปขายแล้วไปดาวน์รถคันใหม่ เพื่อจะเหลือเงินส่วนต่างไปหมุน บัตรเครดิตใช้ใบนี้ไปกดเงินสดเพื่อโปะหนี้อีกใบ เคยกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน เรื่องทำงานหนักไม่เคยเกี่ยง แต่ใจท้อมาก แทบไม่ไหว เคยคิดว่าไม่เคยไปโกงใครแต่ทำไมถึงโดนแย่งลูกค้า ทำไมถึงลำบากขนาดนี้”คุณวาสนา เผยชีวิตเมื่อครั้งอดีต

    แม้จะหมดทุนรอนแต่ชีวิต้องดำเนินต่อ สองสามีภรรยา จึงช่วยกันหาสินค้าตัวใหม่ออกมาขาย กระทั่งมีเพื่อนชาวต่างชาติของสามีเดินทางมาเมืองไทย เพื่อมองหาสินค้าหัตถกรรมส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ คุณวาสนา จึงไปตลาดสำเพ็งเพื่อตระเวนซื้อสินค้าอย่าง ตะเกียบ ช้อน แล้วเอามาจัดให้เป็นชุด และหนึ่งในสินค้าหลายตัวส่งไปขายนั้น “กระเป๋าผ้า” ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก

เลยเป็นจุดตั้งต้น ให้เธอและสามี มา “คิดใหม่” อีกครั้งหนึ่ง

    “เราปรึกษากันว่า มาทำธุรกิจอะไรที่เป็นของตัวเองดีมั๊ย  และไม่ต้องลงทุนเยอะ ทำแบรนด์ของตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่แบรนด์ของคนอื่นมาขาย แต่จะทำอะไรดี เพื่อนของสามี เลยแนะนำว่าตลาดในต่างประเทศ มีความต้องการงานฝีมือ ซึ่งคนไทยทำได้ดี เลยจับมือกันทำธุรกิจตั้งแต่นั้นมา”คุณวาสนา เล่า

    ก่อนบอกต่อ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Naraya –นารายา เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2536 จากจักร 15 ตัว พนักงาน 15 คน และจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้านารายณ์ภัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อที่เพียง 2 ตารางเมตร

    หากแต่ธุรกิจขยายตัวดีขึ้นตามลำดับ นับแต่ พ.ศ 2539 เป็นต้นมา นารายา เติบโตอย่างรวดเร็ว กระทั่งทุกวันนี้ มีพนักงานมากกว่า 3, 000 คน และยังว่าจ้างฝีมือแรงงานจากชนบทอีกว่า 4,000 คน เพื่อร่วมผลิตสินค้า

    และในปี พ.ศ.2539 นั่นเอง มีการจดทะเบียนตราสัญลักษณ์ NaRaYa โดยอิงจากชื่อบริษัท นารายา เป็นภาษาฮินดู แปลว่า พระนารายณ์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อของพระวิษณุเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวฮินดู ชื่อนี้ถูกเลือกเพราะมีความหมายที่เป็นมงคล และง่ายต่อการออกเสียงในหลายๆภาษา

    กระทั่ง พ.ศ.2549 มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 90 ล้านบาท และดำเนินการสร้างสำนักงานใหญ่ ถ.แจ้งวัฒนะ   จ.นนทบุรี พ.ศ.2551 เปิดโรงงาน 2 แห่งที่ อ.ละลวด และ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ พ.ศ.2554 เปิดโรงงาน 1 แห่ง ที่ตำบลพระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ พ.ศ.2559 เปิดโรงงานอีก 1 แห่ง ที่ตำบลบางกระดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี

    ปัจจุบัน นารายา ส่งออกไปขายในหลายประเทศทั่วโลก มีสาขาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 23 สาขา ในประเทศไทย และอีก 13 สาขาในต่างประเทศ  สิ่งเหล่านี้นับเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าธุรกิจขนาดเล็ก สามารถประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ

    “คนจีน เรียกกระเป๋าของนารายา ว่า นารายา มั่นกู่ เปา มั่นกู่ แปลว่า แบงคอก เปา คือ กระเป๋า และมักบอกต่อกัน มากรุงเทพฯต้องมาซื้อ นารายา มั่นกู่ เปา”คุณวาสนา บอก พร้อมยิ้มกว้าง

    และว่า สินค้าของ นารายา ส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าหัตถกรรม จากฝีมือกลุ่มชาวบ้าน หากสังเกต หูกระเป๋าแบบถักเปียนั้น ยังมีการให้ชาวบ้านถักกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการต่อยอดสร้างแบรนด์ใหม่ มาขยายตลาด แล้ว โดยเมื่อ 3 ปีที่ก่อน ออกแบรนด์ “NARA By NaRaYa” เจาะตลาดลูกค้าผู้ชาย และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ออกสินค้าจากผ้าไหมไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ภายใต้แบรนด์ “LaLaMa By NaRaYa”

    สำหรับบทบาทความรับผิดชอบของผู้บริหารหญิงเก่งท่านนี้ ว่ากันว่า เธอ คือ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในด้านความคิดสร้างสรรค์ของบริษัท ด้วยสายตาที่หลักแหลมในเรื่องแฟชั่นและความสวยความงาม  คุณวาสนา ได้ช่วยนำทางให้ทีมครีเอทีฟ ในการเลือกสี รูปแบบ และพื้นผิวกระเป๋า ซึ่งเป็นความสำเร็จระยะแรกๆ ของนารายา ก็ว่าได้

    โดยเธอมีหลักสำคัญ คือ เปิดกว้าง และรับไอเดียใหม่อยู่เสมอ จะสังเกตได้จากผลิตภัณฑ์ในแต่ละปีของนารายา ที่มีการเปลี่ยนโฉมและรูปแบบให้หลากหลาย รวมถึงชนิดของวัสดุ ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ทันสมัย ทำให้ชิ้นงานของนารายาดูแปลกใหม่ และสร้างสรรค์อยู่เสมอ

    อย่างไรก็ตามความสำเร็จของคุณวาสนา นั้น  มิได้มาจากพรสวรรค์ด้านแฟชั่นเพียงอย่างเดียว    แต่เธอได้อุทิศตนอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือชาวบ้าน และเป็นตัวกลางสำคัญในการจัดตั้งโครงการเพื่อช่วยสร้างงานให้คนในประเทศไทย ทำให้พวกเขามีรายได้เลี้ยงชีพ และสามารถส่งบุตรหลานเล่าเรียนได้

    โดย นารายา มีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจการค้าขนาดเล็ก ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ จึงมาจากงานฝีมือของกลุ่มฝีมือแรงงานในชนบทหลายจังหวัด  การสนับสนุนดังกล่าว ทำให้เกิดการรวมตัวกันในหมู่บ้านเป็นการส่งเสริมรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับคนในหมู่บ้านเป็นการกระจายรายได้สู่ประชากรระดับล่าง โดยที่แรงงานในหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องเข้ากรุงเทพฯเพื่อหางานทำ

    ทั้งนี้ทางนารายา จะเป็นผู้คัดสรรวัตถุดิบ ออกแบบ และจัดการฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้าร่วมในโครงการฯ ที่ผ่านมา นารายา ถูกยกย่องให้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ไทยที่ผลิตโดยแรงงานในชนบทซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก แม้ว่าจะต้องพบกับความท้าทายในการฝึกอบรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและเสร็จตรงตามเวลาก็ตาม

    นอกจากนี้ นารายา ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในจังหวัดซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้ครอบครัวในชนบทสามารถมีรายได้จากการทำงานในจังหวัดของตน และยังเข้าร่วมในโครงการสร้างรายได้ และบรรเทาความยากจนกับองค์การ CARE องค์กรต่างประเทศซึ่งไม่แสวงหากำไรอีกด้วย ปัจจุบันนี้ มีกว่า 3,000 ครอบครัวในหลายจังหวัดของไทย เป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับนารายา

    “การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นว่ายากแล้ว แต่เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ทำยังไงให้อยู่ที่เดิมได้โดยไม่มีใครดันให้เราตก มันยากยิ่งกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรามองตัวเองว่า ทุกวันนี้คนชอบนารายา เพราะอะไร ก็ได้คำตอบว่าเพราะเป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่แพง มีความหลากหลาย  ไม่เคยโกงลูกค้า

    เราจึงโฟกัสไปที่คุณภาพเป็นอันดับแรก กระทั่งสร้างคติประจำใจ We never negociate our quality คือเราจะไม่มีการต่อรองเรื่องคุณภาพ ถ้าสินค้าแต่ละตัวไม่ได้คุณภาพอย่างที่วางไว้  ไม่สามารถปล่อยออกไปขายได้ ฉะนั้นถ้าอยากยืนในตำแหน่งแห่งความสำเร็จต่อไป ต้องรักษาคุณภาพให้ได้ ”คุณวาสนา ว่าอย่างนั้น

    ก่อนฝากไว้สำหรับสำหรับคนที่คิดเป็นเจ้าของธุรกิจ ว่า เหนืออุปสรรคอื่นใด “ใจ”ต้องพร้อมก่อน

    “เรื่องอายุไม่ใช่อุปสรรคในการเริ่มทำธุรกิจ ตัวดิฉันเองก็เริ่มตอนอายุ 38 แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ต้องถามใจเราให้ดี ว่าพร้อม และรู้จักธุรกิจนั้นลึกซึ้งแค่ไหน เพราะระหว่างการทำธุรกิจ ต้องมีอุปสรรค มีช่วงท้อใจ เราจะผ่านมันไปได้หรือเปล่า

    แม้การทำธุรกิจทุกคนมีเป้าหมายชัดเจนที่อยากไปให้ถึง ถ้าเราเดินไปเรื่อยๆ สักวันคงถึงแน่ แต่ระหว่างทางต้องมีช่วงที่ท้อ จนไม่อยากทำ แม้รู้อยู่แล้วว่าถ้าผ่านไปได้ก็คงจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้ายอมเสียก่อนก็ไปไม่ถึง จึงอยากแชร์ประสบการณ์ว่า ถ้าคิดทำธุรกิจอะไรก็ตาม ให้ถามใจ ของเราก่อน ว่าพร้อมแค่ไหน”  คุณวาสนา ทิ้งท้าย

ชมคลิป

คลิปเปิดไม่ออก >>>>> กดตรงนี้ คลิก !!!! <<<<<

ข้อมูลและภาพจาก Facebook/Naraya/sentangsedtee/The People

บทความที่คุณอาจสนใจ