เปิดประวัติ "ไอ้ไข่" แห่งวัดเจดีย์ อภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ พร้อมวิธีไหว้บูชาให้ได้ผล สมหวังกันทั่วหน้า

LIEKR:

ตำนาน #ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ กับอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์

        ถ้าพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชื่อดังแห่งนครศรีธรรมราช เชื่อว่าสิ่งที่ใครหลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ คือ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ 

        ถึงแม้ทุกคนจะเคยได้ยินชื่อนี้กันมาบ้างแล้ว แต่ก็เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้ประวัติ ไอ้ไข่ คือใคร ทำไมถึงกลายเป็นตำนานอภินิหารด้านโชคลาภ เงินทอง ด้วยอภินิหารที่ชาวบ้านท้องถิ่นเล่าขานกันมา ส่งผลต่อความเชื่อ และดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศให้เดินทางมากราบไหว้บูชาขอพรจากไอ้ไข่ไม่ขาดสาย 

        สำหรับตำนาน ไอ้ไข่ นั้นมีหลายเรื่องด้วยกัน บ้างก็ว่าไอ้ไข่เป็นลูกศิษย์ที่ติดตามหลวงพ่อทวด เมื่อครั้งเดินทางจากสงขลาจะไปพระนครศรีอยุธยา เมื่อหลวงพ่อทวดธุดงค์มาถึงวัดร้าง และรับรู้ด้วยญาณของท่านว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาในภายภาคหน้า จึงบอกให้เด็กชายอยู่กับ ขรัวทอง ผู้เป็นสมภารวัด ครั้นเมื่อใกล้เวลาที่หลวงพ่อทวดจะเดินทางกลับจากอยุธยา ด้วยกลัวว่าพระอาจารย์จะพากลับถิ่นฐาน อีกทั้งสัจวาจาที่เคยให้ไว้ว่าจะอยู่ดูแลวัดแห่งนี้ เด็กชายจึงเดินลงสระน้ำปลิดชีวิตตัวเอง เพื่อให้วิญญาณได้คอยปกปักรักษาวัดเจดีย์จวบจนปัจจุบัน

        ขณะที่บางตำนานก็ว่า ไอ้ไข่คือเด็กลูกชาวบ้านแถวนั้นที่เคยวิ่งเล่นอยู่ในวัดตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นวัดโบราณ แต่เคราะห์ร้ายประสบอุบัติเหตุตกน้ำเสียชีวิต วิญญาณของเด็กน้อยซึ่งผูกพันอยู่กับวัดก็สถิต ณ วัดแห่งนี้เรื่อยมา

        เมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 เริ่มมีการบูรณะพัฒนาวัด ผู้คนที่มานอนค้างอ้างแรมก็เริ่มพบเจอเรื่องประหลาด โดยเห็นเด็กวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณวัด แต่เมื่อเข้าไปหาดูก็ไม่พบ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ชาวบ้านจึงเรียกเด็กที่ปรากฏร่างนั้นว่า "เด็กวัด"

        กระทั่งราวปี พ.ศ. 2524-2525 ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ฉายาอาจารย์เที่ยง หักเหล็ก ซึ่งเป็นจอมขมังเวทย์ที่มีอาคมเข้มขลังในยุคนั้น นิมิตเห็นเด็กเปลือยกาย มาพร้อมกับพระจีวรสีคล้ำ แล้วบอกว่า "แกะรูปเราให้ที เราจะได้มีที่อาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง" อาจารย์เที่ยงจึงแกะสลักไม้ตะเคียนขึ้นมาเป็นรูปเด็กชายตามนิมิต และได้ปรึกษาพ่อท่านเทิ่ม เจ้าอาวาส ว่าควรจะตั้งชื่อให้เด็กวัด จึงเกิดเป็นที่มาของชื่อ "ไอ้ไข่" ซึ่งเป็นคำทางปักษ์ใต้ใช้เรียกเด็กเล็ก ๆ และหากใครมีเรื่องเดือดร้อน วัว ควาย ข้าวของหาย ก็จะจุดธูปบนบานขอให้ไอ้ไข่ช่วยหา ซึ่งมักจะประสบผลเสมอมา ทำให้ไอ้ไข่เป็นที่รักและนับถือของชาวบ้าน

        เมื่อปี พ.ศ. 2526 พ่อท่านเทิ่ม เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ในขณะนั้น ได้จัดสร้างเหรียญบูชาไอ้ไข่ รุ่นแรก พร้อมกับพัฒนาวัดไปด้วย แต่เวลานั้นพื้นที่รอบ ๆ ยังมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ กองร้อยทหารพรานจึงได้เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราวอยู่ที่วัดเจดีย์ แต่แค่คืนแรกก็เจอดี เพราะมีเด็กมาหยอกเล่น ดึงแขนดึงขา เอาปืนตีศีรษะบ้าง ล้มราวปืนบ้าง วุ่นวายจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน

        เมื่อชาวบ้านรู้เข้า จึงแนะนำให้บอกกล่าวไอ้ไข่ก่อน และเมื่อทำอาหารรับประทานให้แบ่งอาหารตั้งเป็นเครื่องเซ่นให้กับไอ้ไข่ด้วย เมื่อทำดังนั้น คืนต่อมาทุกอย่างก็เงียบสงบ นอนหลับสบาย ไม่มีอะไรมารบกวน ทำให้ชื่อเสียงของไอ้ไข่เป็นที่โจษจัน จนกลายเป็นตำนานเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น

        ปัจจุบัน ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ มีลักษณะเป็นไม้แกะสลักรูปเด็กชายอายุราว 9-10 ขวบ สวมชุดลายพรางทหาร สวมแว่นตาดำ ซึ่งมาจากสิ่งของที่ชาวบ้านที่นับถือศรัทธานำมาถวายแก้บน โดยเชื่อว่าใครที่มาขอพรกับไอ้ไข่ด้วยจิตศรัทธาก็มักจะสำเร็จดั่งหวัง ของานได้งาน ขอเงินได้เงิน ทำให้ชื่อเสียงของ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ โด่งดังไปทั่วทุกแห่งหน ทุกวันนี้จึงมีรูปแกะสลัก รูปวาด หรือรูปหล่อเพิ่มขึ้นอีกมากมายหลายจุดในวัด เพื่อรองรับแรงศรัทธาของมหาชนที่หลั่งไหลกันเข้ามามากขึ้นทุกวัน

คาถาบูชาไอ้ไข่ วัดเจดีย์

        สำหรับใครที่ต้องการไหว้บูชา ให้ตั้งจิตอธิษฐานและสวดคาถาบูชา ดังนี้

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (3 จบ)

อิติ อิติ กุมาระไข่เจดีย์ จะมะหาเถโร ลาภะ ลาภา ภะวัณตุเม (9 จบ)

ขอให้ ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ คุ้มครองอำนวยอวยชัยทุกสิ่งอย่างจงสมหวังทุกประการ และให้ข้าพเจ้าพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ทุกวัน

        ไอ้ไข่ ขึ้นชื่อว่าเป็นกุมารเทพด้านโชคลาภ ผู้คนส่วนใหญ่จึงมักจะมาขอพรบนบานเรื่องการค้า ธุรกิจ รวมถึงขอเลขเด็ด จนคอหวยยกให้เป็นที่สุดของความแม่น ทั้งนี้ ต้องยึดถือสัจจะให้มั่น เมื่อบนบานศาลกล่าวอะไรไว้ ต้องนำสิ่งของนั้นมาแก้บนด้วย อย่างที่ชาวบ้านพูดกันว่า "ขอได้ ไหว้รับ"

วิธีบนบาน

          จุดธูป 3 ดอก สวดคาถาบูชาข้างต้น แล้วขอพรด้วยใจแน่วแน่ แนะนำว่าให้ขอทีละเรื่อง บอกกล่าวให้ชัดเจน เช่น ถ้าอยากขอให้รวย ก็บอกเจาะจงไปเลยว่าอยากมีรายได้เดือนละเท่าไหร่

วิธีแก้บน

        จุดธูป 1 ดอก พร้อมถวายของที่บนไว้ สวดคาถาบูชาข้างต้น แล้วบอกกล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้บนบานเรื่อง................เอาไว้ บัดนี้ด้วยบารมีของไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ ได้ทำให้สมปรารถนาแล้วทุกประการ ข้าพเจ้าจึงนำของมาถวายเพื่อแก้บน ด้วยถือสัจจะเป็นที่ตั้ง ขอให้การบนบานครั้งนี้ขาดจากกันนับแต่บัดนี้ด้วยเทอญ" (โดยธรรมเนียมโบราณแล้วของที่ถวายแก้บนจะไม่นิยมนำมารับประทานต่อ)

        สำหรับของแก้บนที่เป็นที่นิยม ก็จะมี ปูนปั้นรูปไก่ เพราะเชื่อกันว่าไอ้ไข่ชอบ หรือจะเป็นการจุดประทัด เป็นสัญลักษณ์แห่งความลุล่วง ฤกษ์งามยามดี เช่นเดียวกับงานมงคลทั่วไป หรือจะจัดเป็นกลองยาวแก้บน (โดยมักจะจัดแสดงในวันอังคารและวันเสาร์) หรือจะเป็นของเล่นเด็กผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็น ชุดทหาร, ตำรวจ, หนังสติ๊ก, น้ำแดง หรือขนมเปี๊ยะ เป็นต้น

วิธีบูชาและการอัญเชิญไอ้ไข่เข้าบ้าน

        ตามความเชื่อแล้วไม่ใช่กุมารทอง ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ แต่เป็น เทพ ดังนั้น จึงไม่ต้องจุดธูปขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทาง เพียงแค่สวดคาถาบูชาและบอกกล่าวต่อ ไอ้ไข่ ขอให้ท่านดูแลช่วยเหลือ อยู่คุ้มครองเรา และครอบครัว ให้มีแต่ความสุข ความเจริญ โดยวัตถุมงคลตัวแทนไอ้ไข่นี้ จะพกไว้ติดตัวก็ได้ หรือหากจะตั้งโต๊ะบูชาก็สามารถจัดเตรียมได้ ดังนี้ หากรวมกับหิ้งพระ ให้จัดลำดับสูง-ต่ำถัดลงมาจากพระพุทธ พระสงฆ์ องค์กษัตริย์ องค์เทพ และไอ้ไข่ หากตั้งแยก ต้องให้หิ้งของไอ้ไข่ต่ำกว่าลำดับข้างต้น และทิศที่ควรหันหน้าไป คือ ทิศตะวันออก และทิศเหนือ

อุปกรณ์

        1) กระธางธูป 1 กระถาง

        2) เชิงเทียน 1 คู่

        3) แจกันดอกไม้ 1 คู่ หากพื้นที่ไม่พอ ไม่ต้องมีก็ได้ ให้ถวายเป็นพวงมาลัยแทน แต่ให้หลีกเลี่ยงการแขวนที่องค์บูชา เพราะจะดูไม่เหมาะสม ให้วางใส่พานถวาย

        4) ของถวาย ควรมีพานหรือถาดรองรับ ไม่ควรวางกับพื้นหิ้ง และภาชนะ เช่น แก้ว ถ้วย ควรแยกกับของใช้ทั่วไป ไม่ใช้รวมกับของคนในบ้าน

        5) ควรรักษาความสะอาดของหิ้งให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรทิ้งให้รก

ของถวาย

        ถวายเป็นจำพวกขนม ผลไม้ นม น้ำ น้ำแดง ชุดทหาร ของเล่น หรือของที่เด็กชอบ จะถวายโดยการกำหนดวันก็ได้ เช่น วันพระ วันเสาร์ หรือตามสะดวกก็ได้ เวลาบูชาจุดธูป 3 ดอก แก้บนจุด 1 ดอก

การลาของถวาย

        ว่านะโม 3 จบ แล้วตามด้วย เสสัง มังคลัง ยาจามิ ของถวายเมื่อลาเสร็จสามารถกินได้ เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ถ้าเป็นของแก้บน โบราณจะถือ ห้ามกิน เพราะเชื่อว่าการบนบานนั้นจะไม่ขาดกัน

        จากวัดร้างห่างผู้คน เปลี่ยนสู่วัดที่เจริญรุ่งเรือง ด้วยเพราะพลังศรัทธาของผู้คนที่มีต่อเด็กชายผู้คอยดูแลรักษาวัดเจดีย์ นับตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การบูชาก็ควรมีสติ ไม่หลงงมงาย ประกอบกับการทำความดีด้วย สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจึงจะคุ้มครองและส่งผลให้คำอธิษฐานสำเร็จดังใจหวัง

ที่มา : วัดเจดีย์, barameepha, เฟซบุ๊ก จังหวัดนครศรีธรรมราช, kapook

บทความที่คุณอาจสนใจ